การตรวจลงตรา (Visa)
ถาม : visa คืออะไรครับ คนไทยต้องใช้หรือไม่ครับ ตอบ : เวลาที่จะเดินทางไปต่างประเทศ สิ่งที่จำเป็นต้องมีก็คือ (1) หนังสือเดินทาง (2) visa เข้าประเทศนั้นในหนังสือเดินทาง (3) ตั๋วเครื่องบิน (4) เงินสำหรับใช้จ่าย เป็นเงินสกุลท้องถิ่นหรือเงินสกุลหลัก ที่ประเทศนั้นๆ ยอมรับค่ะ
สรุปอย่างง่ายๆ visa คือการขออนุญาตเข้าประเทศอื่นค่ะ คนไทยต้องมี visa ก่อนที่จะเดินทาง ไปประเทศต่างๆ ค่ะ
ถาม : ทราบมาว่ามีบางประเทศที่คนไทยไม่ต้องขอ visa ก่อนเข้าประเทศของเขา ใช่ไหมครับ ตอบ : ถูกต้องค่ะ มีหลายประเทศที่รัฐบาลเราไปทำความตกลงเอาไว้เพื่อให้เดินทางไปมากันได้สะดวก และมีอีกหลายประเทศที่เขาอำนวยความสะดวกให้คนไทยเป็นพิเศษ ปัจจุบัน (เมษายน 2551) มีอยู่ 19 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ที่ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทยสามารถเดินทางเข้าไป ท่องเที่ยวได้โดยไม่ต้องใช้ visa ได้แก่ 1. อาร์เจนตินา (อยู่ได้ 90 วัน) 2. บาห์เรน (อยู่ได้ 14 วัน) 3. บราซิล (90 วัน) 4. บรูไน (14 วัน) 5. ชิลี (90 วัน) 6. ฮ่องกง (30 วัน) 7. อินโดนีเซีย (30 วัน) 8. เกาหลีใต้ (90 วัน) 9. ลาว (30 วัน) 10. มาเก๊า (30 วัน) 11. มองโกเลีย (30 วัน) 12. มาเลเซีย (30 วัน) 13. มัลดีฟส์ (30 วัน) 14. เปรู (90 วัน) 15. ฟิลิปปินส์ (21 วัน) 16. รัสเซีย (30 วัน) 17. สิงคโปร์ (30 วัน) 18. แอฟริกาใต้ (30 วัน) 19. เวียดนาม (30 วัน)
สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการ ปัจจุบัน รัฐบาลไทยก็มีความตกลงกับ 42 ประเทศ ให้สามารถเดินทางไปราชการได้โดยไม่ต้องใช้ visa รายชื่อประเทศดูได้ใน www.consular.go.th ในหน้าของกองตรวจลงตราฯ ค่ะ
ถาม : ตรวจดูรายชื่อประเทศแล้ว การไปหลายๆ ประเทศยังต้องขอ visa ก่อน เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญีปุ่น อังกฤษ จะต้องทำอย่างไรเพื่อจะได้ visa ครับ
ตอบ : ที่ที่เราจะไปขอ visa ก็คือสถานทูตของประเทศที่เราจะไป เช่น จะไปสหรัฐฯ ก็ต้องขอ visa ที่สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเทพฯ หรือสถานกงสุลสหรัฐที่เชียงใหม่ เป็นต้น ต้องใช้เอกสารหลักฐานอะไรบ้าง ก็ต้องสอบถามกับสถานทูตของประเทศนั้นๆ ค่ะ
ถาม : ไปเที่ยวอย่างเดียวกับไปทำอย่างอื่น visa แตกต่างกันไหมครับ
ตอบ : วัตถุประสงค์ของการเดินทางก็เป็นปัจจัยสำคัญค่ะ เช่น การไปเที่ยวกับการไปเรียน ก็ต้องใช้ visa คนละประเภท และเอกสารหลักฐานในการขอก็ไม่เหมือนกัน ค่าธรรมเนียมไม่เท่ากัน และระยะเวลา ที่จะได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศของเขาก็แตกต่างกันด้วยค่ะ
ต้องขอให้จำไว้เสมอนะคะว่า การไปอยู่ในประเทศอื่นนั้น หากไม่ได้พำนักอยู่โดยมีวัตถุประสงค์ แบบเดียวกับที่ตอนที่ขอ visa ไว้ เป็นการผิดกฎหมายนะคะ เช่น ขอ visa ไปเที่ยว แต่จริงๆ ไปทำงาน
ถาม : ผมเป็นนักธุรกิจ ต้องเดินทางไปต่างประเทศบ่อยมาก โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน และจีน มีคำแนะนำไหมครับ
ตอบ : ไทยเป็นสมาชิกของ APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation) ซึ่งในกรอบความร่วมมือนี้ ก็มีการทำความตกลงให้นักธุรกิจเดินทางไปมาภายใน APEC ได้โดยสะดวกค่ะ
นักธุรกิจไทยสามารถยื่นคำร้องขอมี ABTC (APEC Business Travel Card) ซึ่งจะอำนวยความ สะดวกในการเดินทางไปประกอบธุรกิจในอีก 17 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ คือ ออสเตรเลีย บรูไน ชิลี จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู ฟิลิปปินส์ ปาปัวนิวกินี สิงคโปร์ ไต้หวัน และเวียดนาม โดยไม่ต้องไปขอ visa กับสถานทูตแต่ละประเทศ เลยค่ะ
นักธุรกิจที่สนใจสามารถยื่นคำร้องและสอบถามรายละเอียดได้จากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ได้ที่หมายเลข 0-2225-5474 หรือ 0-2622-1111 ต่อ 649 ค่ะ
ถาม : เพื่อนผมบอกว่า ถ้าไปยุโรป ขอ visa ครั้งเดียว เข้าได้หลายประเทศ
ตอบ : ประเทศในยุโรป จำนวน 24 ประเทศ มีการทำความตกลงกันโดยการออก visa พิเศษ ที่มีชื่อว่า ?Schengen Visa? เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนประเทศต่างๆ ค่ะ คนไทยก็มีสิทธิขอ visa นี้ค่ะ ผู้ที่มี Schengen Visa สามารถเดินทางเข้าประเทศเหล่านี้โดยไม่ต้องขอ visa กับทุกประเทศอีก : ออสเตรีย เบลเยียม เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอซ์แลนด์ อิตาลี กรีซ ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส สเปน สวีเดน เช็ค เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิธัวเนีย ฮังการี มอลตา โปแลนด์ สโลวีเนีย และสโลวาเกีย
คุณจะสามารถพำนักอยู่ได้รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 90 วัน ภายในระยะเวลา 6 เดือน ขอทราบรายละเอียดและยื่นคำร้องขอ Schengen Visa ได้ที่สถานทูตประเทศดังกล่าวค่ะ ทั้งนี้ การยื่นขอ Schengen Visa จะต้องเป็นการขอที่สถานทูตของประเทศที่คุณจะไปพำนักอยู่นานที่สุด แต่หากไม่สามารถ ระบุได้ชัดเจน ก็ต้องไปขอที่สถานทูตของประเทศแรกที่จะเดินทางเข้าค่ะ ถาม : ผมถือหนังสือเดินทางราชการ กำลังจะไปประชุมที่กรุงเวียนนา โดยจะไปเปลี่ยนเครื่อง ที่สนามบินกรุงเอเธนส์ ทราบมาว่าถ้าเดินทางผ่านกรีซเพื่อเปลี่ยนเครื่องอย่างเดียว ไม่ต้องขอ visa และไทยก็มีความตกลงกับออสเตรียในการยกเว้นการตรวจลงตรา หนังสือเดินทางทูตและราชการ ดังนั้น การเดินทางของผมครั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องขอ visa เลยใช่ไหมครับ?
ตอบ : กรณีนี้ ต้องขอ Schengen Visa ก่อนค่ะ แม้ว่าคุณถือหนังสือเดินทางราชการก็ตาม ทางการกรีซแจ้งว่า ผู้ถือหนังสือเดินทางไทยทุกประเภท หากเดินทางผ่านกรีซไปประเทศ Schengen อื่น โดยกรีซเป็นประเทศแรกของ Schengen ที่เดินทางเข้า บุคคลผู้นั้นจะต้องขอ Schengen Visa ก่อนการเดินทาง ไม่ว่าประเทศ Schengen ที่เดินทางเข้าต่อจากนั้น จะมีความตกลง ในการยกเว้นการตรวจลงตรากับไทยหรือไม่ก็ตามค่ะ
ในขณะเดียวกัน หากเป็นการเดินทางผ่านกรีซเพื่อขึ้นเครื่องบินต่อไปประเทศอื่นที่ไม่ใช่ Schengen โดยไม่ออกไปนอกท่าอากาศยานกรุงเอเธนส์ ผู้ถือหนังสือเดินทางไทยทุกประเภทไม่จำเป็นต้องขอ visa เข้ากรีซก่อนการเดินทางค่ะ
ประเทศ Schengen มี 24 ประเทศ : ออสเตรีย เบลเยียม เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอซ์แลนด์ อิตาลี กรีซ ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส สเปน สวีเดน เช็ค เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิธัวเนีย ฮังการี มอลตา โปแลนด์ สโลวีเนีย และสโลวาเกีย
- ประเทศ Schengen ที่มีความตกลง : ออสเตรีย เบลเยียม เยอรมนี อิตาลี ลักเซมเบิร์ก
ยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง เนเธอร์แลนด์ เช็ค ฮังการี โปแลนด์ และสโลวาเกีย ทูตและราชการกับไทย 10 ประเทศ
- ประเทศ Schengen ที่ประกาศยกเว้น : เดนมาร์ก ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน
การตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูต และราชการให้ไทยฝ่ายเดียว 4 ประเทศ
- ประเทศ Schengen ที่ผู้ถือหนังสือ : ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ กรีซ โปรตุเกส สเปน เอสโตเนีย
ทูตและราชการของไทยต้องขอรับการ ลัตเวีย ลิธัวเนีย มอลตา และสโลวีเนีย ตรวจลงตรา 10 ประเทศ
ถาม : กองตรวจลงตราฯ ที่กรมการกงสุล มีหน้าที่อะไรเกี่ยวกับ visa ครับ
ตอบ : หน้าที่หลักของกองตรวจลงตราฯ คือการดูแลการออก visa ของสถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลของไทยในต่างประเทศสำหรับคนต่างชาติที่จะเดินทางเข้าเมืองไทยค่ะ นอกจากนี้ กองตรวจลงตราฯ ก็มีหน้าที่เกี่ยวกับการอนุญาตให้คนต่างชาติที่เป็นนักการทูต หรือเจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศที่พำนักอยู่ในเมืองไทย เดินทางกลับเข้าเมืองไทยได้อีก (Re-entry)
หากคนต่างชาติทั่วไปที่อยู่ในเมืองไทย ต้องการติดต่อเรื่อง visa ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเปลี่ยนประเภท visa หรือการขอขยายเวลาการพำนักในเมืองไทย ต้องติดต่อที่สำนักงาน ต.ม. ค่ะ โทรศัพท์ไปสอบถามก่อนได้ค่ะที่หมายเลข 0-2287-3101 ถึง 10
อนึ่ง กองตรวจลงตราฯ ก็สามารถให้คำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับการขอ visa ไปต่างประเทศของคนไทย ได้ค่ะ แต่ข้อมูลในรายละเอียดจะต้องไปสอบถามจากสถานทูตของประเทศนั้นๆ ในเมืองไทย เพราะเป็นอำนาจของแต่ละประเทศในการออก visa ให้คนต่างชาติเข้าประเทศของเขา ถาม : ถ้าอย่างนั้น คนต่างชาติที่จะเข้ามาในเมืองไทย ก็ต้องขอ visa ก่อนใช่ไหมครับ
ตอบ : ใช่แล้วค่ะ คนต่างชาติที่จะเข้ามาในเมืองไทยก็ต้องขอ visa ที่สถานทูตหรือสถานกงสุล ของไทยที่ตั้งอยู่ในประเทศนั้นๆ ก่อน แต่ก็มีหลายประเทศค่ะที่สามารถเข้าเมืองไทยได้ โดยไม่ต้องขอ visa หรือขอ visa ที่สนามบินก็ได้ สามารถตรวจสอบรายชื่อประเทศดังกล่าวได้ จาก www.consular.go.th หรือ www.mfa.go.th นะคะ
ถาม : เพื่อนผมเป็นคนนิวซีแลนด์มีธุรกิจส่วนตัวอยู่ที่นิวซีแลนด์ ชอบเมืองไทยมากเลยเดินทางเข้ามาเที่ยวบ่อย เพราะไม่ต้องใช้ visa ด้วย บางครั้งใน 1 ปี เดินทางเข้า-ออกเมืองไทยบ่อยครั้งมากจนนับได้ว่าอยู่ในเมืองไทยมากกว่าอยู่ในนิวซีแลนด์เสียอีก แต่ตอนนี้ ทราบว่า ต.ม. มีระเบียบใหม่เกี่ยวกับระยะเวลาที่อนุญาตให้คนต่างชาติพำนักอยู่หากเข้ามาโดยไม่มี visa ใช่ไหมครับ?
ตอบ : ถูกต้องค่ะ เพื่อไม่ให้คนต่างชาติจำนวนหนึ่งอาศัยช่องทางในการได้รับการยกเว้น visa เดินทาง เข้าออกหลายครั้งเพื่อลักลอบทำงานในเมืองไทยอย่างผิดกฎหมาย สำนักงาน ต.ม. จึงออก มาตรการป้องกันไว้ ปัจจุบัน คนต่างชาติ 42 ประเทศ รวมถึงนิวซีแลนด์ สามารถเดินทางเข้าประเทศ ไทยเพื่อการท่องเที่ยวโดยได้รับการยกเว้น visa (เรียกว่า ผ. 30) ซึ่งเจ้าหน้าที่ ต.ม. จะอนุญาต ให้อยู่ได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน และรวมแล้วต้องไม่เกิน 90 วันภายใน 6 เดือนนับจากวันที่เดินทางเข้าครั้งแรกค่ะ
ในกรณีอย่างเพื่อนของคุณนี้ ถ้าประสงค์จะท่องเที่ยวระยะยาวจริงๆ ขอแนะนำให้ขอ visa นักท่องเที่ยว จากสถานทูตไทยที่กรุงเวลลิงตัน หรือสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ที่เมืองโอ๊คแลนด์ ก่อนที่จะเดินทางเข้าเมืองไทย เพราะจะได้รับอนุญาตให้อยู่ได้นานกว่าการเข้ามาโดยไม่มี visa ค่ะ ถาม : อาจารย์ของผมเป็นคนญี่ปุ่น เข้ามาเที่ยวเมืองไทยโดยได้รับการยกเว้น visa ได้รับอนุญาตจาก ต.ม. ให้อยู่ได้ 30 วัน สัปดาห์หน้าก็จะครบกำหนดแล้ว แต่บังเอิญว่า ท่านประสบอุบัติเหตุเล็กน้อย ต้องพักรักษาตัวอีกระยะหนึ่งก่อนจะเดินทางกลับญี่ปุ่นได้ ทำอย่างไรดีครับ
ตอบ : ขอแนะนำให้อาจารย์ของคุณขอใบรับรองแพทย์ไปแสดงกับสำนักงาน ต.ม. ที่ไหนก็ได้ค่ะ แต่ต้องดำเนินการก่อนที่จะครบ 30 วันนะคะ สำนักงาน ต.ม. จะพิจารณาอนุญาตให้อยู่ต่อได้ ตามความจำเป็นค่ะ
การที่คนต่างชาติอยู่เกินกำหนด โดยที่ไม่ขออนุญาตก่อน เมื่อเดินทางออกจากเมืองไทย จะถูกปรับตามจำนวนวันที่อยู่เกินกำหนดค่ะ (ค่าปรับวันละ 500 บาท หรือรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 20,000 บาท)
ถาม : ผมทำธุรกิจส่งออก กำลังขยายกิจการ อยากจะจ้างคนจีนไว้ช่วยทำตลาดจีน ควรทำอย่างไรบ้างครับ
ตอบ : ขอแนะนำให้ปรึกษากรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานก่อนค่ะ เพราะมีกฎหมายและระเบียบ ต่างๆ กำหนดไว้สำหรับการจ้างคนต่างชาติ (www.doe.go.th)
สิ่งที่จำเป็นสำหรับนายจ้างก็คือการยื่นขอใบอนุญาตทำงาน (work permit หรือ ต.ท. 2) ให้คนต่างชาตินั้นๆ ขอแนะนำให้คุณยื่นขอใบอนุญาตทำงานล่วงหน้า (แบบฟอร์ม ต.ท. 3) หากกรมการจัดหางานพิจารณาแล้วเห็นควรอนุมัติ ก็จะออกหนังสือรับรองให้ ซึ่งคุณก็สามารถ ส่งเอกสารที่ว่านี้และเอกสารประกอบคำร้องต่างๆ ที่คุณสามารถตรวจสอบได้จาก www.mfa.go.th หรือ www.consular.go.th ให้คนต่างชาตินั้นไปยื่นขอ Non-Immigrant visa ที่สถานทูตหรือสถานกงสุลของไทย ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทยค่ะ
ถาม : เพื่อนผมเป็นคนอินเดีย มาเที่ยวเมืองไทยแล้วติดใจครับ อยากจะอยู่ทำงานที่นี่ มีคำแนะนำไหมครับ
ตอบ : ถ้าอยากจะทำงานในเมืองไทย ก็ต้องมีนายจ้างก่อนนะคะ หน่วยงานที่อนุญาตให้คนต่างชาติ ทำงานในเมืองไทยได้ก็คือกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ส่วนเรื่องการอนุญาตให้พำนัก อยู่ในเมืองไทยเป็นอำนาจตามกฎหมายของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
ในกรณีนี้ หากเพื่อนของคุณมีนายจ้างแล้ว ก็ควรจะกลับไปขอ visa ทำงาน (เรียกชื่อทางการว่าNon-immigrant ?B? visa) จากสถานทูตหรือสถานกงสุลของไทยในอินเดีย โดยมีเอกสารรับรองต่างๆ จากนายจ้างไปแสดง หรือหากให้นายจ้างยื่นขอใบอนุญาตทำงานให้ล่วงหน้า (แบบฟอร์ม ต.ท. 3) ก็จะยิ่งทำให้ขอ visa ได้ง่ายมากขึ้นค่ะ และเมื่อเข้ามาแล้ว ก็ไปขอรับใบอนุญาตทำงาน จากนั้น ไปยื่นคำร้องขออนุญาตอยู่ต่อกับสำนักงาน ต.ม. ก่อนที่จะครบ กำหนด 90 วันค่ะ
ถ้าเพื่อนของคุณอยู่ต่อในเมืองไทยและทำงานโดยไม่มี visa ที่ถูกต้อง และไม่มีใบอนุญาตทำงาน ถือเป็นการผิดกฎหมายนะคะ อาจถูกปรับและเนรเทศกลับประเทศได้ ถาม : ผมมีแฟนเป็นคนฮ่องกง ตอนนี้อยู่ที่ฮ่องกง อยากจะแต่งงานและพาเธอมาอยู่ด้วยกัน ที่เมืองไทย ต้องทำอะไรบ้างครับ
ตอบ : ก่อนอื่น ต้องจดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อนค่ะ สามารถเลือกจดทะเบียน ตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายฮ่องกงก็ได้ หลังจากนั้น ก็นำหลักฐานการจดทะเบียนสมรส ไปยื่นขอ visa คู่สมรสได้ที่สถานกงสุลใหญ่ของไทยในฮ่องกง (เรียกว่า Non-immigrant ?O?) เมื่อได้ visa แล้ว ก็สามารถอยู่ในเมืองไทยระยะยาวได้ แต่ต้องอย่าลืมไปขอต่ออายุการพำนัก ในเมืองไทยกับสำนักงาน ต.ม. แห่งไหนก็ได้เป็นประจำนะคะ
เรื่องการจดทะเบียนสมรสระหว่างคนไทยกับคนต่างชาติ สามารถขอคำแนะนำจากกองสัญชาติ และนิติกรณ์ กรมการกงสุล ได้ด้วยค่ะ ถาม : ดิฉันแต่งงานกับคนเยอรมนี จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายเยอรมนีแล้ว ตอนนี้เราอยู่ด้วยกันที่แฟรงก์เฟิร์ต ดิฉันเคยพาเขามาเที่ยวเมืองไทยหลายครั้งแล้ว โดยไม่ได้ใช้ visa แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน อยากจะพาเขามาอยู่ระยะยาว ต้องทำอย่างไรบ้างคะ
ตอบ : สามีของคุณสามารถยื่นขอ Non-Immigrant ?O? Visa ในฐานะคู่สมรสของคนไทยได้ ที่สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ตค่ะ ในการขอ visa นั้น ก็ต้องนำทะเบียนสมรส และหลักฐานไทยของคุณไปแสดงด้วย เมื่อสามีของคุณได้รับ visa แล้ว ก็สามารถเดินทาง เข้าเมืองไทย และจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในครั้งแรกไม่เกิน 90 วัน หลังจากนั้น ก็สามารถขอ อยู่ต่อที่สำนักงาน ต.ม. แห่งไหนก็ได้ โดยจะได้รับอนุญาตครั้งละไม่เกิน 1 ปีค่ะ
ถาม : ขอความกระจ่างอีกนิดหนึ่งครับ แปลว่า ถ้าคนต่างชาติเข้ามาอยู่ในเมืองไทยแล้ว สถานะเปลี่ยนไป เช่น แต่งงานกับคนไทย หรือเปลี่ยนจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างอื่น ต้องติดต่อเพื่อขออนุญาตกับสำนักงาน ต.ม. ใช่ไหมครับ
ตอบ : ถูกต้องค่ะ ต.ม. จะพิจารณาตามเอกสารและความจำเป็น ในบางกรณี อาจได้รับคำแนะนำให้กลับไปประเทศของตนเพื่อขอ visa ที่ถูกต้องเข้ามา จะได้ไม่ประสบปัญหาในอนาคตค่ะ
เอกสารเดินทางคนต่างด้าว (Travel Document for Aliens หรือ TD) และเรื่องอื่นๆ
ถาม : เอกสารเดินทางคนต่างด้าวคืออะไรครับ ต่างจากหนังสือเดินทางอย่างไรครับ
ตอบ : หนังสือเดินทางเป็นเอกสารการเดินทางสำหรับผู้ที่มีสัญชาติไทยค่ะ ส่วนคนต่างด้าว ที่พำนักอยู่ในเมืองไทย มีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ที่ออกให้โดย ต.ม. แต่ไม่สามารถขอหนังสือเดินทาง จากประเทศที่ตนเคยมีสัญชาติเดิม สามารถขอเอกสารเดินทางคนต่างด้าว (TD) ซึ่งมีอายุการใช้งาน 1 ปี และสามารถต่ออายุ ได้ที่กองตรวจลงตราฯ เพื่อใช้เดินทาง ไปต่างประเทศชั่วคราวได้ค่ะ
นอกจากคนต่างด้าวที่มีใบถิ่นที่อยู่แล้ว บุคคลไร้สัญชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทย และคนต่างด้าวทีได้รับถิ่นที่อยู่ถาวรภายใต้โครงการลงทุนเป็นกรณีพิเศษ 10 ล้านบาท ก็มีสิทธิยื่นขอ TD ได้เช่นกันค่ะ
เอกสารประกอบต่างๆ ในการขอ TD ปรากฎใน www.consular.go.th หรือ www.mfa.go.th ค่ะ ถาม : พอได้รับ TD แล้วต้องทำอะไรบ้างครับ
ตอบ : อย่างแรกที่ต้องทำคือไปยื่นคำร้องขอ Re-entry Permit จากสำนักงาน ต.ม. ค่ะ สำนักงาน ต.ม. จะออก Re-entry Permit ให้โดยมีอายุเท่ากับ TD จากนั้น ก็นำ TD ไปขอ visa เข้าประเทศที่คุณจะเดินทางไปจากสถานทูตของประเทศนั้นๆ ค่ะ
ถาม : คุณแม่ของผมเป็นคนต่างด้าว แต่ตอนนี้มีหนังสือเดินทางจีนอยู่ด้วย จะขอ TD ได้ไหมครับ
ตอบ : กรมการกงสุลไม่สามารถออก TD ให้กับบุคคลที่มีหนังสือเดินทางของประเทศอื่นค่ะ ในกรณีเช่นนี้ คุณแม่ของคุณสามารถใช้หนังสือเดินทางจีนเดินทางออกจากเมืองไทยได้ค่ะ แต่ควรปรึกษากับ ต.ม. ก่อนล่วงหน้าให้แน่ใจว่าต้องดำเนินการอะไรหรือไม่ถึงจะสามารถเดินทาง กลับเข้ามาเมืองไทยได้อย่างไม่มีปัญหา ถาม : คุณพ่อผมเป็นคนต่างด้าว อยากให้ท่านได้รับสัญชาติไทย จะได้เปลี่ยนจากถือ TD เป็นหนังสือเดินทางไทย ต้องทำอย่างไรบ้างครับ
ตอบ : การได้สัญชาติไทยอยู่ในอำนาจการพิจารณาของกระทรวงมหาดไทยค่ะ คนต่างด้าวที่มีถิ่นที่อยู่ ในเมืองไทยและประสงค์จะได้สัญชาติไทย ต้องไปยื่นคำร้องขอที่กองตำรวจสันติบาล สามารถขอคำแนะนำในเบื้องต้นได้ที่กองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุลค่ะ
ถาม : สามารถขอต่ออายุ TD ในต่างประเทศได้ไหมครับ คุณลุงของผมเป็นคนต่างด้าว ใช้ TD เดินทางไปเยี่ยมญาติที่เกาหลีใต้ แล้วไปล้มป่วยอยู่ที่นั่น เกรงว่า TD จะหมดอายุ เสียก่อนที่ท่านจะหายป่วยและเดินทางกลับได้
ตอบ : ในหลักการแล้ว สถานทูตสถานกงสุลใหญ่ไม่สามารถต่ออายุ TD ให้ได้ค่ะ หากผู้ที่ถือ TD ไม่เดินทางกลับประเทศไทยระหว่างที่ TD และ Re-entry Permit ยังมีอายุอยู่ สถานะของคนต่างด้าวที่ได้รับใบถิ่นที่อยู่ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วยนะคะ
หากเป็นกรณีที่สุดวิสัยจริงๆ เช่น เจ็บป่วยในต่างประเทศ ขอให้ติดต่อสถานทูต/สถานกงสุลใหญ่ของไทยที่อยู่ใกล้ที่สุด พร้อมแสดงหลักฐานประจำตัวต่างๆ รวมถึงใบรับรองแพทย์ค่ะ และสถานทูต/สถานกงสุลใหญ่จะหารือกับกองตรวจลงตราฯ กรมการกงสุล เพื่อช่วยหาทางออกให้ต่อไปค่ะ
ถาม : นอกจากหนังสือเดินทางและเอกสารเดินทางคนต่างด้าวแล้ว ผมเคยได้ยินว่า มีเอกสารที่เรียกว่า Emergency Certificate ด้วย คืออะไรครับ
ตอบ : Emergency Certificate หรือ EC คือเอกสารการเดินทางที่กองตรวจลงตราฯ กรมการกงสุล ออกให้กับคนต่างชาติในการเดินทางออกจากเมืองไทยแบบฉุกเฉินค่ะ กลุ่มคนต่างชาติที่มีสิทธิ ขอ EC เป็นคนกลุ่มพิเศษที่ไม่สามารถยื่นขอหนังสือเดินทางของประเทศใดๆ ในเมืองไทยได้ เช่น (1) คนต่างชาติที่ทำหนังสือเดินทางหาย และไม่มีสถานทูตของตนตั้งอยู่ในเมืองไทย (2) บุตรของคนต่างชาติที่เกิดในเมืองไทย แต่ไม่ได้รับสัญชาติไทย และไม่มีสถานทูต ของตนตั้งอยู่ในเมืองไทย (3) เด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยที่อยู่ในความดูแลของกรมพัฒนาสังคม และสวัสดิการ (4) คนต่างชาติที่ลี้ภัยทางการเมืองมาอยู่ในเมืองไทย
ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง
| |
แอร์แคนาดาประกาศแผนเปิดตัว Wi-Fi ที่ความเร็วสูง โดยได้รับการสนับสนุนจากเบลล์ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2025 บริการฟรีนี้จะให้บริการแก่สมาชิก ... | |
สายการบินเอทิฮัดแอร์เวย์และแอร์เซเชลส์ได้ลงนามในข้อตกลงการใช้รหัสเที่ยวบินร่วมกัน ซึ่งทำให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้อย่างราบรื่นด้วยการจองเพียงครั้งเดียวระหว่างจุดหมายปลายทางทั้งหมดของสายการบินเอทิฮัดและมาเฮ ... | |
สายการบิน China Airlines (CI) ประกาศแผนการปรับปรุงฝูงบิน Airbus A350 โดยได้ลงนามข้อตกลงกับแอร์บัส เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องบิน ... | |
Korean Air ได้รับการยกย่องจากทั่วโลก โดยได้รับรางวัลสูงสุดจากการสำรวจ GT Tested ประจำปี 2024 ของ Global Traveler สายการบินได้รับรางวัลบริการบนเครื่องยอดเยี่ยม ... | |
สายการบินเอทิฮัดแอร์เวย์ (EY) และสายการบินแอร์อัสตานา (KC) ได้ประกาศความร่วมมือด้านรหัสเที่ยวบินร่วมกันแบบทวิภาคีใหม่ ข้อตกลงดังกล่าวซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ ... |
|