ข้อมูลทั่วไป ชื่อทางการ สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ (People's Republic of Bangladesh) การปกครอง ระบบประชาธิปไตย ประธานาธิบดีเป็นประมุข นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีพรรคการเมืองแบบหลายพรรค พื้นที่ของประเทศ ประมาณ 148,393 ตารางกิโลเมตร (เล็กกว่าประเทศไทยประมาณ 3 เท่าครึ่ง) จำนวนประชากร ประมาณ 140 ล้านคน (2548) ศาสนา มุสลิม 88.3 % ฮินดู 10.5 % พุทธ 0.6 % คริสต์ 0.3 % ที่เหลือศาสนาอื่น ๆ เมืองหลวง กรุงธากา (Dhaka City) มีประชากรประมาณ 10 ล้านคน ภาษาราชการ บังกลา (เป็นภาษาชาวเบงกาลี ใช้ทั่วประเทศ) แต่ในระดับผู้บริหาร หรือนักธุรกิจทั่วไปสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ สกุลของเงินตรา ตากา (Taka) อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯเท่ากับ 67 ตากา หรือ 100 ตากา ประมาณ 65 บาท (ปี 2548) เวลามาตรฐาน เร็วกว่าเวลามาตรฐานกรีนิช 6 ชั่วโมง (หรือช้ากว่าไทย 1 ชั่วโมง) อากาศ ตั้งอยู่ในเขตมรสุมจึงมีฝนตกชุก โดยเฉพาะในช่วงกรกฎาคม-ตุลาคม และมีปริมาณน้ำฝนมากถึง 5,690 มิลลิเมตร/ปี ดังนั้นประเทศส่วนใหญ่ซึ่งเป็นที่ราบจึงถูกน้ำท่วมทุกปี อุณหภูมิต่ำสุดในเดือนมกราคม ประมาณ 5.5-14.4 องศาเซลเซียส สูงสุดในเดือนกรกฎาคม 29.9-36.8 องศาเซลเซียส
ประวัติศาสตร์
บังกลาเทศมีประวัติความเป็นมานานกว่า 1,000 ปี เดิมคือชมพูทวีป (เช่นเดียวกับอินเดีย ปากีสถาน) เป็นดินแดนที่รุ่งเรืองของศาสนาพราหมณ์ และศาสนาพุทธ ต่อมาศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแพร่ โดยพ่อค้าชาวอาหรับ ปัจจุบันชาวบังกลาเทศส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม
ในปี 2300 อังกฤษได้เข้ายึดครองและอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษเกือบ 200 ปี จึงได้เอกราชพร้อมกับอินเดียในปี 2490 โดยเป็นส่วนหนึ่งของปากีสถาน หรือเรียกว่าปากีสถานตะวันออก และต่อมาได้ประกาศสงครามปลดแอกจากปากีสถาน เมื่อปี 2514 ก่อตั้งเป็นประเทศเอกราชโดยการนำของ นายเชค มูจิบูร์ ราห์มาน (Sheikh Mujibur Rahman) ซึ่งเป็นบิดาของนาง Sheikh Hasina ผู้นำฝ่ายค้านบังกลาเทศคนปัจจุบัน (2548) เป็นผู้นำในการทำสงครามปลดแอกบังกลาเทศ (ปากีสถานตะวันออก) ออกจากปากีสถาน เมื่อปี 2514 โดยชาวบังกลาเทศยกย่องให้เป็นบิดาแห่งชาติ
ข้อพึงระวัง
บังกลาเทศยังขาดแคลนสาธารณสุขขั้นพื้นฐานและบริการด้านการแพทย์ที่ดี จึงต้องระมัดระวังสุขภาพตนเอง โดยเฉพาะการรับประทานผักสด ต้องดื่มน้ำที่สะอาดผ่านการกรองและต้มสุก ควรรับประทานอาหารในร้านที่สะอาด ไม่ควรรับประทานอาหารที่วางขายตามข้างถนน ไฟฟ้าจะดับทุกวัน วันละหลายครั้ง เป็นประเทศที่มีคดีอาชญากรรมสูง มีการฉกชิงวิ่งราว การทำร้ายร่างกาย นอกจากนี้ ยังมีความรุนแรงทางการเมือง จึงควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในที่ชุมชนหนาแน่นหรือกำลังมีกิจกรรมทางการเมือง คนบังกลาเทศส่วนใหญ่ไม่รุ้หนังสือ ไม่มีวินัยในการใช้รถใช้ถนนและการเดินทางโดยเรือโดยสาร ซึ่งยังขาดอุปกรณ์ช่วยชีวิต รวมทั้งขาดความรู้ด้านสาธารณสุขพื้นฐาน เศรษฐกิจ
บังกลาเทศ มีรายได้ประชากรต่อหัวเพียง 392 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี(ปี 2548) รายได้ส่วนใหญ่มาจากสินค้าเกษตรกรรมและเสื้อผ้าสำเร็จรูป อย่างไรก็ตาม บังกลาเทศยังมีทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แก๊ส ซึ่งอาจทำรายได้เข้าประเทศได้ในอนาคต
การค้าระหว่างไทยกับบังกลาเทศมีจำนวนประมาณ 15,000 ล้านบาท/ปี(ปี 2547)
แรงงาน
บังกลาเทศ มีอัตราว่างงานราวร้อยละ 20 คนไทยในบังกลาเทศมีจำนวนประมาณ 100 คน โดยอาศัยที่กรุงธากาและเมืองจิตตะกอง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพพนักงานบริษัทไทยในบังกลาเทศ ทำงานในบริษัทประมงของบังกลาเทศ โรงงานสิ่งทอ วิศวกร พ่อครัว รวมถึงกลุ่มนักเรียนไทยมุสลิม
หากท่านจะอยู่อาศัยในประเทศบังกลาเทศ เป็นระยะเวลานาน โปรดแจ้งชื่อ และที่อยู่ ต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อประโยชน์ในการติดต่อ หรือให้ความช่วยเหลือในกรณีจำเป็น สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา Plot 18-20, Madani Avenue, Baridhara, Dhaka 1212 โทรศัพท์ (880 2) 881 2795-6, 881-3260-1 โทรสาร (880 2) 885 4280
|