ข้อมูลเบื้องต้น :
ที่ตั้ง ฟิลิปปินส์เป็นประเทศหมู่เกาะ จำนวนทั้งสิ้น 7,107 เกาะ เมืองหลวง กรุงมะนิลา ประชากร 85.5 ล้านคน ศาสนา ส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิค ภาษา ใช้ภาษาตากาล็อกและภาษาอังกฤษ
การปกครอง ฟิลิปปินส์เคยเป็นอาณานิคมของสเปน และสหรัฐฯ ปัจจุบันฟิลิปปินส์มีการปกครองแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งเป็นประมุขและหัวหน้าฝ่ายบริหารประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือนางกลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย
แรงงาน ฟิลิปปินส์มิใช่ตลาดแรงงานไทย หากถูกชักชวนให้เดินทางไปฟิลิปปินส์เพื่อการไปทำงานที่ใช้แรงงาน หรือเพื่อเป็นทางผ่านไปทำงานประเทศที่ 3 ก็ควรจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่ากำลังจะถูกหลอกลวง ควรตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงแรงงานฯ หรือกระทรวงต่างประเทศก่อน
นักเรียน ประเทศฟิลิปปินส์ยังคงเป็นแหล่งทางเลือกหนึ่งของนักเรียน นักศึกษาไทยที่จะไปศึกษาเล่าเรียน ถึงแม้ว่าจะมีจำนวนลดน้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับในยุคเมื่อ 20 ปีมาแล้ว เนื่องจากประเทศฟิลิปปินส์สามารถให้โอกาสทางการศึกษาทดแทนประเทศที่พูดภาษาอังกฤษอื่น ๆ ซึ่งมีค่าเล่าเรียนสูงขึ้นเรื่อยๆ
ข้อแนะนำ
เนื่องจากสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในฟิลิปปินส์ได้ถูกยุบเลิกไปแล้ว ดังนั้น ผู้ที่ไปเล่าเรียนในฟิลิปปินส์จำเป็นต้องช่วยเหลือตัวเองในทุก ๆ ด้าน นับตั้งแต่การสมัครเข้าเรียน การขอการตรวจลงตรา (วีซ่า) และการเดินทาง เป็นต้น โดยมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะมีเจ้าหน้าที่เพื่อดูแลนักศึกษาชาวต่างประเทศเป็นพิเศษ การติดต่อขอข้อมูล ควรติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทย การสมัครเข้าเรียน หากกระทำผ่านระบบนายหน้าควรต้องใช้ความระมัดระวัง รวมทั้งควรตรวจสอบกับสำนักงาน กพ. เรื่องการรับรองสถานศึกษาด้วย ระบบการตรวจลงตรา (วีซ่า) ก็มีความสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจ เช่น วีซ่าท่องเที่ยวไม่สามารถเรียนหนังสือได้ จะต้องขอวีซ่าให้ถูกประเภท การต่อวีซ่า การขอวีซ่าขาออกสำหรับการกลับมาเยี่ยมบ้าน รวมทั้งค่าธรรมเนียมวีซ่า ซึ่งปัจจุบันมีอัตราที่เพิ่มขึ้นมาก สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องสอบถามจากหน่วยงานของฟิลิปปินส์ เช่น สถานเอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทย เป็นต้น ข้อควรคำนึง คือสภาพแวดล้อมอาจไม่สะดวกเท่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปรับตัว รวมทั้งระบบการสอนของฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับปริญญาตรีจะมีการสอนเป็นภาษาพื้นเมือง (ตากาล็อก) มากขึ้น อาจทำความลำบากใจให้นักเรียนไทยได้ นักธุรกิจ ปัจจุบันมีบริษัทธุรกิจของไทยเข้าไปดำเนินงานและลงทุนในฟิลิปปินส์หลายบริษัท อาทิ บริษัทปูนซีเมนต์ไทย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย รวมทั้งมีนักธุรกิจของไทยเข้าไปประกอบอาชีพในบริษัทข้ามชาติต่าง ๆ อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าในฟิลิปปินส์จะยังไม่มีการก่อตั้งสมาคมนักธุรกิจไทย แต่ก็สามารถรวมตัว และให้ความช่วยเหลือแก่นักธุรกิจที่เพิ่งเข้าไปตั้งหลักแหล่งใหม่ได้ โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ จะเป็นตัวกลางที่จะประสานให้มีการติดต่อพบปะหารือกัน
ข้อแนะนำ
การเข้าไปประกอบธุรกิจในฟิลิปปินส์ในลักษณะต่าง ๆ เช่น การลงทุนร่วมกับฝ่ายฟิลิปปินส์ จำเป็นต้องมีการศึกษาข้อมูลให้ละเอียด โดยเฉพาะในด้านกฎหมาย การจดทะเบียนภาษี และปัญหาทางด้านแรงงาน เป็นต้น การตรวจลงตรา การต่ออายุการตรวจลงตรา ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตลอดจนทำใบขออนุญาตทำงาน เป็นสิ่งที่ต้องมีการตระเตรียม โดยสามารถมอบหมาย หรือต้องให้สำนักงานกฎหมายของท้องถิ่นดำเนินการให้ได้ ฟิลิปปินส์มีสภาพสังคมวัฒนธรรมที่คล้ายกับไทย ดังนั้นน่าที่จะปรับตัวให้เข้ากับสังคมและชีวิตความเป็นอยู่ได้ง่าย
หากท่านจะอยู่อาศัยในประเทศฟิลิปปินส์ เป็นระยะเวลานาน โปรดแจ้งชื่อ และที่อยู่ ต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อประโยชน์ในการติดต่อ หรือให้ความช่วยเหลือในกรณีจำเป็น กงสุลกิตติมศักดิ ์ ณ เมืองเซบู Mr.Roy Chiongbian Honorary Consul to Cebu Royal Thai Consulate in Cebu C/o Eastern Shipping Lines Concer Magallanes and M.J. Cuenco Streets, Cebu P.O. Box 561 Cebu โทรศัพท์ (63-32) 70261, 93270 โทรสาร (63-32) 93013
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลา (Royal Thai Embassy) 107 Rada/Thailand Street Legaspi Village, Maktati city โทรศัพท์ (63-2) 815-4219-20, 816-0696-97 โทรสาร (63-2) 815-4221
E-mail : rtemml@pldtdsl.net
Postal address:P.O.Box 1228, Makati Central Post Office Makati 1252
กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ โทรศัพท์ 0 2575 1046-51 โทรสาร 0 2575 1052
|